top of page
  • Writer's pictureDATA Trusted POWER

อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร ส่วนสำคัญที่ยิ่งต้องใส่ใจ



เมื่อมองสำรวจในบ้านหรืออาคารต่าง ๆ เราจะพบอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารมากมายหลายชนิด ทั้งสิ่งที่ต้องหยิบจับเพื่อใช้งาน กับสิ่งที่ใช้กดสวิตช์หรือรีโมทเวลาต้องการใช้งาน เมื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหากลองสังเกต คุณจะเห็นบางชนิดไม่มีสายดิน บางชนิดก็มีสายดิน เราจะลองมาแบ่งสิ่งเหล่านี้ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อทำความเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น


อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารสำหรับส่วนต่อใช้งาน


ส่วนนี้คืออุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารที่เราต้องซื้อมาต่อกับเต้ารับ เช่น โคมไฟที่มาต่อกับสวิตช์, อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต่อจากเซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย(CB) อย่างเครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องทำน้ำอุ่น ตามหลักทางไฟฟ้าเราจะแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ


- ประเภท 1 ประเภทนี้ต้องมีขั้วสายดินที่เต้าเสียบ เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารประเภทนี้เรามีโอกาสสัมผัสกับผิวโลหะที่ไม่ได้หุ้มฉนวนไว้ดีพอ เช่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ สว่านไฟฟ้า ตู้เย็น เตารีด กระติกน้ำร้อน เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น


- ประเภท 2 ประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องมีสายดินที่เต้าเสียบ เพราะมีฉนวนห่อหุ้มไว้อย่างดี เช่น ทีวี วิทยุ พัดลม


- ประเภท 3 อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารประเภทนี้ เวลาต้องใช้งานไม่ได้รับแรงดันไฟฟ้าสูง ซึ่งตามข้อกำหนดแบ่งไว้ที่ 50 V จึงไม่ต้องมีสายดิน เช่น เครื่องโกนหนวด โทรศัพท์บ้าน เป็นต้น


วิธีใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารให้มีความปลอดภัย

- ติดตั้งขั้วต่อสายดินและสายดินอย่างถูกต้อง


ระบบสายดินนี่แหละคือตัวป้องกันชีวิตคน ถ้าต่อหลักสายดินอย่างดีเข้ากับแผงสายดินที่ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตตามหลักของการไฟฟ้าฯ แล้วก็เดินสายดินต่อที่ขั้วเต้ารับอย่างถูกต้อง เวลาเกิดไฟรั่วที่ผิวอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารประเภท 1 กระแสไฟก็จะไหลลงดินโดยผ่านสายดินไม่ผ่านร่างกายคน


- เลือกเซอร์กิตเบรกเกอร์ (CB) ที่ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตเป็นแบบกันไฟรั่ว


เจ้า CB ธรรมดาจะตัดการทำงานเมื่อมีไฟลัดวงจรซึ่งไม่รวดเร็วเพียงพอสำหรับป้องกันชีวิตคน แต่ยังมีอุปกรณ์ประเภทที่เสริมส่วนป้องกันไฟรั่วเข้าไป ซึ่งทำงานโดยการตรวจสอบกระแสไฟที่ระหว่างขั้ว(L) กับขั้ว(N) ถ้ากระแสไฟหายไปแสดงว่ามีไฟรั่ว โดยปริมาณที่คนจะมีอันตราย คือ ไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์ และต้องตัดภายในเวลา 0.04 วินาที เราจึงควรเลือกหรือปรับปรุง CB ลูกย่อย ในชุดที่คนในบ้านมีโอกาสไปสัมผัส เช่น เส้นที่ไปเต้ารับ เส้นที่ไปเครื่องทำน้ำอุ่น เส้นที่ไปแสงสว่างนอกบ้าน ให้เป็นแบบกันไฟรั่ว เพื่อป้องกันสิ่งที่คาดไม่ถึง เช่น เด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ หรือการชำรุดของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารประเภท 2 หรือ 3 เป็นต้น


- เพิ่มชุดป้องกันแรงดันเกินจากฟ้าผ่า ที่ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต


การเพิ่มในส่วนนี้จะป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น คอมพิวเตอร์หรือทีวีไม่ให้ได้รับเสียหายเวลามีแรงดันเกินจากฟ้าผ่าเข้ามาในระบบ


ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ที่จะช่วยให้คุณพอเข้าใจประเภทของอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร และมองออกว่าต้องให้ความสำคัญและใส่ใจตรงส่วนไหนบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของบ้านและคนในบ้านทุกคนนั่นเอง

949 views0 comments
bottom of page