DATA Trusted POWER
อุปกรณ์ปลั๊กไฟ เลือกใช้อย่างไรคุ้มค่าและปลอดภัย

เวลาเราไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อหุงข้าวหรือทีวี จะมีอุปกรณ์ปลั๊กไฟที่เรียกว่า “เต้าเสียบ” ติดมาด้วย เมื่อจะใช้งาน เราก็ต้องนำเต้าเสียบมา เสียบเข้ากับ “เต้ารับ” ที่บ้าน เรื่องที่ดูง่าย ๆ แบบนี้ แต่ในความจริงประเทศไทยของเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกผลิตมาจากหลายประเทศ จากประเทศจีนบ้าง จากประเทศญี่ปุ่นบ้าง จากประเทศในยุโรปบ้าง ในยุคก่อน ๆ เราจึงมีเต้าเสียบหลากหลายชนิด เมื่ออุปกรณ์ปลั๊กไฟมีความหลากหลาย ก็ทำให้ความปลอดภัยย่อหย่อนลงไป
สมอ.บังคับให้อุปกรณ์ปลั๊กไฟที่นำมาใช้ในประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ. )ได้ออกกำหนด มอก.166-2549 เพื่อบังคับให้อุปกรณ์ปลั๊กไฟ ที่นำมาใช้ในประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน เต้าเสียบที่ติดอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับขายในประเทศไทยจึงเป็นแบบเดียวกัน ทั้งแบบหัวกลม 2 ขา ไม่มีขั้วสายดิน และแบบหัวกลม 3 ขา มีขั้วสายดิน การออกแบบเช่นนี้เพื่อให้อุปกรณ์ปลอดภัยกับแรงดันไฟฟ้า 220 V ที่ใช้ในบ้าน และไม่จำเป็นต้องรื้อเปลี่ยนเต้ารับแบบที่เสียบได้ทั้งขากลมขาแบน ซึ่งติดตั้งใช้งานกันอยู่แล้วโดยทั่วไป
จะเลือกซื้ออุปกรณ์ปลั๊กไฟฟ้าอย่างไรดี
เมื่อคุณ รู้เรื่องมาตรฐานอุปกรณ์ปลั๊กไฟแล้ว ต้องสังเกตเวลาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ว่าเต้าเสียบที่ติดมากับเครื่องได้รับมาตรฐาน มอก.166-2549 หรือเปล่า ส่วนเต้ารับที่ติดตามบ้านส่วนใหญ่จะไม่ต้องเปลี่ยน แต่ถ้าเสียบแล้วหลวม ก็ควรพิจารณาเปลี่ยนให้เป็นเต้ารับที่ได้รับ มอก.166-2549 หรือใช้ตัวแปลงเพิ่ม
สำหรับอุปกรณ์ปลั๊กไฟแบบพ่วงนั้นสมอ.ได้กำหนดมาตรฐาน มอก. 2432-2555 แยกไว้ต่างหาก ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างมาก โดยเราได้สรุปเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญ เพื่อให้คุณเลือกซื้ออย่างคุ้มค่าและปลอดภัย
1. สังเกตว่าปลั๊กไฟแบบพ่วงนั้นมีเครื่องหมาย มอก. และระบุว่าเป็น มอก. 2432-2555 ก่อนซื้อทุกครั้ง
2. เต้ารับต้องมีตัวปิดช่อง(ม่านนิรภัย) ป้องกันนิ้วเด็ก หรือวัสดุเข้าไปภายใน พร้อมขั้วสายดิน
3. เต้าเสียบขากลมเป็นชนิด 3 ขา หากลองสังเกตดู จะเห็นว่ามีฉนวนกันกระแสไฟฟ้าที่โคนขาปลั๊กไฟเพื่อป้องกันมือสัมผัสขาปลั๊กไฟขณะใช้งาน (ได้รับ มอก.166-2549)
4. สำหรับอุปกรณ์ปลั๊กไฟแบบพ่วง ที่มีเต้ารับตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป กำหนดให้ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟเกินด้วยเซอร์กิตเบรกเกอร์ (ห้ามใช้ฟิวส์)
5. ในรุ่นที่มีสวิตช์ไฟ ต้องแข็งแรงและเป็นไปตาม มอก.824-2551
6. สายไฟตาม มอก.11/มอก.955 (สำหรับรุ่นกระแสไฟ 16 แอมแปร์)
- ถ้าใช้สายขนาด 1 ตร.มม ความยาวสายยาวได้ไม่เกิน 2 เมตร
- ถ้าใช้สายขนาด 1.5 ตร.มม ความยาวสายยาวได้ไม่เกิน 30 เมตร
การเลือกซื้อและใช้งานอุปกรณ์ปลั๊กไฟแบบพ่วง
1. เลือกซื้อขนาดของอุปกรณ์ปลั๊กไฟแบบพ่วงให้เหมาะสมกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อไฟฟ้า หรือ กระทะไฟฟ้า ใช้กำลังไฟสูง 1,000 วัตต์ ชุดสายพ่วงต้องมีขนาดใหญ่กว่า 1,000 วัตต์ เป็นต้น ซึ่งขนาดใหญ่สุดที่มีขายตามมาตรฐาน มอก.2432-2555 คือ 3,500 วัตต์
2. ตรวจสอบสภาพทั่วไปก่อนใช้งาน เช่น สายไฟไม่มีรอยขาดหรือไหม้ เต้าเสียบไม่หลวม เป็นต้น
3. ต้องไม่เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีกระแสรวมเกินขนาดชุดสายพ่วง
4. การดึงเต้าเสียบออกจากเต้ารับควรจับที่เต้าเสียบ ไม่ควรดึงที่สายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟฟ้าหลุดจากขั้วต่อ และเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้
5. ถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจร
อุปกรณ์ปลั๊กไฟเป็นสิ่งที่เราต้องสัมผัสและใช้งานกันทุกวัน ด้วยข้อมูลที่เราได้นำเสนอไปแล้วจะทำให้คุณสามารถเลือกซื้อได้อย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถใช้งานได้ถูกวิธีโดยไม่เกิดอันตรายและช่วยยืดอายุการใช้งานได้อีกด้วย