DATA Trusted POWER
ปลั๊กไฟอัตโนมัติมีกี่ชนิด ข้อมูลต้องรู้ก่อนคิดเลือกใช้งาน

ทางเลือกง่าย ๆ ที่จะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทำงานแบบปิดเปิดได้เองแม้คุณจะไม่อยู่บ้าน หรือสั่งปิด-เปิด เครื่องใช้ไฟฟ้าจากภายนอกบ้านด้วยโทรศัพท์มือถือก็คือ หาปลั๊กไฟอัตโนมัติมาใช้ เราจึงชวนคุณลองสำรวจกัน ว่ามีแบบไหนให้เลือกใช้บ้าง และวิธีใช้งานต่างกันอย่างไร
ปลั๊กไฟอัตโนมัติแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ใช้สัญญาณ WIFI และ ไม่ใช้สัญญาณ WIFI
ปลั๊กไฟอัตโนมัติชนิดไม่ใช้สัญญาณ WIFI ยังแบ่งย่อย เป็น 2 ชนิดตามวิธีตั้งเวลา คือ แป้นหมุนแบบอนาล็อก และปุ่มกดตั้งเวลาแบบหน้าปัดดิจิตอล
- ปลั๊กไฟอัตโนมัติชนิดตัวตั้งเวลาเป็นแบบแป้นหมุน
ช่วงเวลาที่ตั้งได้จะไม่ละเอียด แคบสุดจะเป็น 15-30นาที(แล้วแต่รุ่น) และควรเว้นห่างประมาณ 4 ช่อง คือ ตั้งเปิดแล้วปิด ได้แคบสุดสุด คือ 1 ชั่วโมง และถ้าตั้งแคบกว่า 4 ช่องกลไกการหมุนอาจชำรุด ดังนั้นจึงตั้งได้เต็มที่ 24 รอบต่อวัน แต่ถ้าตั้งให้รอบทำงานต่อวันสูง อายุการใช้งานก็จะสั้นลง จึงไม่ควรตั้งเกิน 20 รอบต่อวัน ตัวตั้งเวลาเป็นแบบแป้นหมุนไม่สามารถตั้งความแตกต่างของวันในสัปดาห์ได้ จึงเหมาะกับงานที่ทำเป็นประจำทุกวัน
- ปลั๊กไฟอัตโนมัติแบบปุ่มกดตั้งเวลาแบบหน้าปัดดิจิตอล
จะตั้งเวลาได้ละเอียด เช่น เปิด 15.00 ปิด 15.01 (ระยะห่าง 1 นาที) และสามารถกำหนดให้มีความต่างของวันในสัปดาห์ได้ เช่น จะให้ทำงานทุกวัน วันเว้นวัน หรือเฉพาะวันทำงาน จุดสนใจของแต่ละรุ่นคือจำนวนรอบปิดเปิดต่อวัน มักจะได้ไม่เกิน 8 รอบต่อวัน บางรุ่นมีโหมด Random ให้ทำงานแบบสุ่ม ซึ่งข้อดีคือนำไปทำระบบหลอกขโมยให้เข้าใจว่า มีคนอยู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่เรา ๆ ไม่อยู่ และไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณ WIFI
ปลั๊กไฟอัตโนมัติชนิดใช้สัญญาณ WIFI ทำออกมารองรับวิถีชีวิตยุคเทคโนโลยีอย่างแท้จริง เวลาใช้งานจึงต้องมี WIFI ในบ้าน และใช้โทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตในการสั่งการ มีระบบการทำงานดังนี้
- ฟังก์ชันสั่งการทำงานเปิด-ปิดธรรมดา สั่งงานด้วย Application ถ้าคุณ ออกจากบ้านแล้วนึกขึ้นได้ว่าลืมปิดเครื่องใช้ฟ้าไฟ ก็สามารถเปิด Application บนมือถือแล้วสั่งปิดการทำงานได้เลย เพียงแต่ที่ปลั๊กไฟต้องมี WIFI บางรุ่นยังสามารถใช้งานร่วมกับ Google Assistance หรือ Alexa ของ Amazon ได้ ทำให้สามารถสั่งการปิดเปิดด้วยเสียงได้อีกด้วย
- โหมดตั้งเวลาเปิดหรือปิด เราสามารถสั่งให้ปลั๊กปลั๊กไฟอัตโนมัติทำงานตามเวลาที่ต้องการ เช่น 5 โมงเย็นเปิด 5 ทุ่มปิด และยังสามารถให้ทำงานซ้ำเดิม ตามวันเวลาที่ต้องการได้อย่างสะดวก
- ตั้งเวลานับถอยหลัง เช่น ตั้งให้ปิดหลอดไฟหรือทีวีในห้องนอนได้
- ข้อเสียคือต้องมีสัญญาณ WIFI แม้จะตั้งเวลาไว้แล้วก็ตาม
ต้องพิจารณาอะไรบ้างก่อนคิดเลือกใช้งานปลั๊กไฟอัตโนมัติ
- อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ต่อกับปลั๊กไฟอัตโนมัติ ต้องคำนึงเรื่องปริมาณกระแสด้วย อุปกรณ์ที่ต้องการกระแสไฟฟ้ามาก เช่น มอเตอร์ปั๊มน้ำที่มีขนาดใหญ่ใช้กระแสสูง ควรนำไปใช้สำหรับตั้งเวลาชุดควบคุม เพื่อให้ชุดควบคุมรับกระแสแทน
- เลือกชนิดปลั๊กไฟอัตโนมัติให้เหมาะสมกับงาน หากเป็นงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ทุกวัน เช่น ระบบระบายอากาศของบ้าน ระบบรดน้ำสวน สามารถเลือกแบบที่ไม่ต้องใช้ WIFI แทนได้
- ถ้าหากต้องการใช้งานประจำและต้องการความแน่นอน ควรพิจารณารุ่นที่มีแบตเตอรี่หรือหาเครื่องสำรองไฟสำหรับกรณีไฟฟ้าดับเพิ่มเติม
- หากคุณเป็นคนที่ชอบลืมบ่อย ๆ และต้องการความสะดวกที่มากกว่า แนะนำให้ใช้รูปแบบ WIFI ที่มี Application รองรับการสั่งงานบนมือถือได้
ปลั๊กไฟอัตโนมัติ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนให้บ้านคุณกลายเป็น “บ้านอัจฉริยะ” แบบไม่ต้องลงทุนเยอะ และช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ของความปลอดภัยและความสะดวกสบายจากการใช้งาน ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้นับว่าเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ใกล้กับคำว่า "จำเป็นต้องมี" อีกหนึ่งชิ้นเลยทีเดียว